วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตามไปเก็บ “มัลเบอร์รี” ที่ภูพยัคฆ์ ผลเล็ก รสดี คุณค่าไม่จิ๊บจ๊อย!


หลายครั้งที่อ่านฉลากโยเกิร์ต รส "มิกซ์เบอร์รี" ไล่สายตาผ่านสตอร์วเบอร์รี บลูเบอร์รี แบล็กเบอร์รี แล้วมักมาสะดุดที่เจ้า "มัลเบอร์รี" ทุกที ด้วยความสงสัยว่าคือผลอะไร มีหน้าตาแบบไหน จะเหมือนเพื่อนๆ เบอร์รีอื่นๆ ที่โด่งดังหรือเปล่า เก็บความสงสัยนั้นไว้อยู่นาน จนวันหนึ่งเมื่อขึ้นดอยไปเที่ยวโครงการพระราชดำริภูพยัคฆ์ที่ จ.น่าน จึงถึงบางอ้อว่า เจ้าผล "มัลเบอร์รี" ที่แท้ปลูกในไทย เราเรียกกันคุ้นหูว่า "หม่อน" นั่นเอง
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา "นายรอบรู้" ได้รับเกียรติจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เชิญเราไปร่วมงานสื่อมวลชนสัญจรที่ จ. แพร่-จ.น่าน สำนักงาน ก.พ.ร. มีหน้าที่ส่งเสริมให้การพัฒนาระบบราชการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงพาเราไปเยี่ยมชมโครงการฝายแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งบริหารจัดการน้ำประสบผลสำเร็จ จนได้รับ "รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน" จาก ก.พ.ร. และรางวัล "United Nation Public Service Awards" จากองค์กรสหประชาชาติ ในปี 2555 นี้ รวมถึงไปเยี่ยมชมสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ที่ จ. น่าน ซึ่งดำเนินงานรักษาผืนป่าไปพร้อมส่งเสริมอาชีพให้คนพื้นที่ ที่นี่เอง ทำให้เราพบตัวจริงของ "มัลเบอร์รี" หรือหม่อน ผลไม้ขนาดจิ๋วที่หน้าตาคล้ายพวงองุ่น แต่ช่วยทำให้ชาวบ้านหลายร้อยชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เรียกว่าผลเล็ก แต่คุณค่าไม่จิ๊บจ๊อย!
สถานีพัฒนาการเกษตรฯ ภูพยัคฆ์ ตั้งอยู่ใน ต.ขุนน่าน อ. เฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองน่านออกไปราว 380 กม. ทางมานั้นอาจไม่สะดวกนักเพราะเส้นทางไม่ดี มีผิวถนนร่อนบางช่วง คณะสื่อมวลชนนั่งรถตู้กว่า 4 ชั่วโมงจึงจะขึ้นมาถึงสถานีฯ แต่เมื่อมาถึงก็เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ เพราะอากาศด้านบนนี้เย็นสบาย มีทัศนียภาพงดงาม มองไปเห็นนาขั้นบันไดเรียงตัวยาวไกลสุดสายตา สวนผลไม้และแปลงผักที่ให้ผลผลิตสะพรั่ง ยิ่งเมื่อดื่มน้ำมัลเบอร์รีเย็นฉ่ำ รสเปรี้ยวอมหวาน ที่เจ้าหน้าที่โครงการยกมาต้อนรับ ก็ช่วยเพิ่มความสดชื่น ไล่ความเมื่อยล้าที่ต้องนั่งนั่งรถไกลๆ ได้หมดสิ้น แถมได้กินผักสดใหม่กรุบกรอบ ไร้สารพิษของโครงการในมื้อกลางวัน ก็เหมือนสวรรค์อยู่ในปากแท้ๆ
พอเราอิ่มกาย หายเหนื่อยแล้ว เจ้าหน้าโครงการฯ ก็เริ่มต้นเล่าจุดกำเนิดของโครงการพระราชดำรินี้ว่า ในอดีตชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลัวะจะทำไร่เลื่อนลอยบนภูเขา แต่ยิ่งทำกลับผลผลิตน้อยลง เพราะหน้าดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุสารอาหาร ถูกน้ำชะไปเมื่อฝนตกลงมา ทำให้ต้องย้ายที่ทำกินไปเรื่อยๆ อีกทั้งเมื่อหมดฤดูทำนาและปลูกผัก ชาวบ้านก็จะเผาป่า เตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด พืชเศรษฐกิจที่ให้ราคาสูง โดยไม่รู้ว่าเป็นการทำลายผืนป่าบนภูพยัคฆ์อันเป็นต้นน้ำของลำน้ำน่าน-หนึ่งในสี่ของสายน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยหลายล้านคน
ในเดือนมกราคมปี 2546 พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรบ้านน้ำรีพระองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำ จึงพระราชดำริหนทางฟื้นฟูฝืนป่าโดยให้คนอยู่ร่วมกับป่า และทำให้ชาวบ้านเล็งเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ ด้วยการโปรดให้ก่อตั้งโครงการพระราชดำริ "สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์" ขึ้นบนพื้นที่กว่าแสนไร่ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ธรรมชาติในเขตป่าต้นน้ำ และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ด้วยการทำการเกษตรที่ยั่งยืนแทนการบุกถางทำลายป่า
 
ภารกิจสำคัญคือการรณรงค์และอบรมให้ความรู้ ให้ชาวบ้านทำนาขั้นบันได 1 คนต่อ 1 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และลดการบุกรุกพื้นที่ป่า อีกทั้งส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ต่อมาโครงการพัฒนาขึ้น จนขยายสู่การทำพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น กาแฟ และ มัลเบอร์รี ซึ่งใช้พื้นที่น้อยกว่าข้าวโพด แต่มีผลตอบแทนที่ดีไม่น้อยกว่ากันเท่าใดนัก
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องเป็น "หม่อน" หรือ "มัลเบอรี" เจ้าหน้าที่อธิบายว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้เจ้าผลไม้ชนิดนี้เหมาะสมกับชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น ชนเผ่าที่อาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาวลัวะ ซึ่งเน้นการปฏิบัติตามประเพณีอย่างเคร่งครัด หากถึงวันที่เรียกว่า "วันกรรม" ชาวบ้านจะไม่ทำกิจกรรมใดทั้งสิ้น ดั้งนั้นการปลูกหม่อนกินผลจึงเหมาะสมกว่าหม่อนเลี้ยงไหมที่ต้องดูแลทุกวันอย่างขาดไม่ได้ นอกจากนี้หม่อนกินผลยังเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีในการบำรุงรักษา ให้ผลผลิตเร็ว และเก็บผลผลิตได้หลายสิบปี หม่อนจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประจวบเหมาะที่สุด ปัจจุบันชาวบ้านปลูกหม่อนกันเต็มดอย ถึงปลายปี 2554 มีหม่อนกว่า 4,000 ต้น และให้ผลผลิตกว่า 20,000 กก. ซึ่งคำนวณเป็นรายได้ถึง 640,000 บาท ต่อปี
ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ผลหม่อนมีสีสวยถูกใจ และมีรสเปรี้ยวอมหวานอร่อย จึงถือเป็นผลไม้โดดเด่นที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนสถานีฯ ภูพยัคฆ์มากขึ้น สอดคล้องกับการพยายามส่งเสริมให้สถานีฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเปิดต้อนรับคนรักธรรมชาติที่อยากสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ กินผักสดปลอดสารพิษ และเดินเที่ยวสวนมัลเบอร์รี ...และเพื่อให้ "นายรอบรู้" เห็นภาพการท่องเที่ยวมากขึ้น เจ้าหน้าที่จึงนัดหมายให้ชาวบ้านในโครงการพาเราไปเดินเที่ยวสวนหม่อน เด็ดมัลเบอรีสดๆ จากต้นกินได้ตามสบาย
พี่ฉัตรชัย บัวแสน ชาวบ้านน้ำรีกลุ่มแรกๆ ที่หันมาเข้าร่วมโครงการ พาเราไปเดินตะลุยสวนมัลเบอร์รีที่ปลูกแซมกับกาแฟ ขนาด4 ไร่ของแก พี่ฉัตรชัยสอนว่าเมื่อผลหม่อนแก่จะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีชมพูและแดง เมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเกือบดำ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน สามารถเด็ดกินสดๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวสารพิษ เพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี หรือจะเก็บใส่ตะกร้าไปฝากคนที่บ้านก็ได้ ชาวบ้านที่นี่จะตัดแต่งกิ่งให้ออกผลเป็น 2 ช่วง คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงมกราคม ในช่วงหน้าหนาวนี้เอง อากาศจะเย็นสบาย มีหมอกตอนเช้า หากได้มาเก็บมัลเบอร์รีช่วงนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดียิ่งนัก
หม่อนที่ปลูกคือ หม่อนผลสด หรือ มัลเบอร์รี (Fruiting Mulberry Morus spp.Moraceae) ซึ่งเป็นคนละชนิดกับหม่อนที่นำไปเลี้ยงไหม ซึ่งมีการค้นพบว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งพบสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟินอล (Polyphenols) แอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidin) และกรดโฟลิก (Folic acid) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้เบอร์รีราคแพงชนิดอื่น
ในสถานียังมีโรงงานแปรรูปผลหม่อน โดยโครงการจะเป็นตลาดรับซื้อผลมัลเบอรีจากชาวบ้านทั้งหมด ส่วนหนึ่งบรรจุเป็นผลแช่แข็ง ส่งไปทำไวน์ที่ จ. ลำพูน และส่งไปทำส่วนผสมในน้ำผลไม้ของดอยคำ อีกส่วนนำมาผลิตภายในโครงการเป็นผลอบแห้ง น้ำมัลเบอร์รี และน้ำสกัดมัลเบอร์รีเข้มข้น โดยปรับหีบห่อให้ดูทันสมัยภายใต้แบรนด์ "ภูพยัคฆ์" และนำไปวางขายในร้านกาแฟภูพยัคฆ์และร้านขายของฝากในตัวเมืองน่าน
ขณะนี้ทางโครงการยังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น ทั้งน้ำมัลเบอร์รีผสมน้ำผึ้ง น้ำมัลเบอร์รีไม่ผสมน้ำตาล มัลเบอร์รีอบแห้งผสมน้ำผึ้ง แยมมัลเบอร์รี และไอศกรีมมัลเบอร์รีเจลาโตอีกด้วย นอกจากผลิตภัณฑ์จากมัลเบอร์รีที่พัฒนาแตกแขนงไป ชีวิตของคนทำเบอร์รีก็ดีขึ้นไปตามลำดับ พี่ฉัตรชัยบอกว่ามีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นจากไม่กี่พันบาทเป็น 6-7 หมื่นบาท และมีข้าวกินตลอดปี สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ขัดสน
"จากเมื่อก่อนที่ทำไปไม่รู้อะไร ตอนนี้ผมต้องไปเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้การปลูกให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ฝึกทำปุ๋ยชีวภาพ ตอนนี้ก็ได้กำไรพออยู่พอกิน พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องไปเดือดร้อนเปิดป่าใหม่ ครอบครัวผมก็มีความสุข รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น
"ผมนึกถึงพระราชินีอยู่ตลอด ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีวันนี้ เมื่อก่อนเราไม่รู้อะไร เหมือนท่านมาเปิดทางให้เราเห็น เหมือนตอนนี้เราได้อยู่บนสวรรค์" พี่ฉัตรชัยกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน
เราเดินกินผลมัลเบอร์รีหวานๆ เปรี้ยวๆ ไปพร้อมๆ กับเห็นรอยยิ้มของคนปลูก และรับรู้ในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระราชินีมีต่อพสกนิกรของท่าน ก็รู้สึกชื่นใจ และทำให้การเดินทางมาตามหามัลเบอร์รีครั้งนี้ ช่างคุ้มเหนื่อยยิ่งนัก
ขอขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

ไม่มีความคิดเห็น: